www.sleepgroup.com
Sleep Group หน้าแรก กระดานถาม-ตอบปัญหานอนกรน สอบถาม... ปัญหานอนกรน แนะนำทีมงานแพทย์ พบแพทย์  
-A +A
 
 Search
 
Change Language

Polysomnography
การตรวจการนอนหลับ

        เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนของคืนนั้นๆ เป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทเพียงไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ โดยที่ผู้ป่วยเองไม่สามารถทราบได้ โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การตรวจการนอนหลับนี้ประกอบด้วย

               1.  การตรวจวัดคลื่นสมอง
เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และ การตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ -- > หลับได้สนิทมากน้อยแค่
                          ไหน ประสิทธิภาพการนอนดีเพียงใด
               2.  การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ -- > หัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ ที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
               3.  การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ -- > สมอง หัวใจ ขาดออกซิเจนหรือไม่ 
               4.  การตรวจวัดลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และ การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ใช้ในการ                         หายใจ -- > มีการหยุดหายใจหรือเปล่าเป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยหรืออันตรายแค่ไหน
               5.  การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอก และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ใช้ในการหายใจ
               6.  การตรวจเสียงกรน -- > กรนจริงหรือไม่ กรนดังค่อยแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน
               7.  การตรวจท่านอน -- > ในแต่ละท่านอน มีการกรนหรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร

ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการตรวจวัดช่วงกลางคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป



     
          เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
เพื่อบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของร่างกายขณะนอนหลับหลายๆ อย่าง วิธีการคล้ายกับการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่จะมีการติดอุปกรณ์ต่างๆ มากกว่า สำหรับสถานที่ที่ใช้ในการตรวจนั้น ถ้าเป็นการตรวจชนิดจำกัด (Limited-channel PSG) อุปกรณ์จะมีไม่มาก เฉพาะเท่าที่จำเป็น สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำการตรวจที่บ้านผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสะดวกไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องติดอุปกรณ์มากนักเหมาะสำหรับกรณีผู้ป่วยเด็ก และสามารถนอนได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะนอนที่บ้านตัวเอง แต่ผลการตรวจอาจจะไม่ละเอียด หรือต่ำกว่าความเป็นจริงบ้าง เพราะไม่สามารถตรวจการทำงานของสมองได้ ตรวจได้เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการหายใจเป็นหลัก

อีกชนิดหนึ่งเป็นการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน (Standard PSG)
          ต้องทำในห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Sleep laboratory) ซึ่งจะต้องมีการฝึกบุคลากรขึ้นมาเฉพาะ เพราะการตรวจค่อนข้างซับซ้อน และมีการติดอุปกรณ์ตามร่างกายหลายอย่าง สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนของคืนนั้นๆ เป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทเพียงไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ การบันทึกด้วย PSG นั้น อาจจะให้ผู้ป่วยมารับการตรวจในห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับเป็นเวลา 2 คืน เพราะลักษณะของการนอนหลับในคืนแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับสถานที่ทำให้นอนหลับได้ยาก หลับไม่ต่อเนื่อง พลิกตัวบ่อย ประสิทธิภาพของการนอนหลับลดลง อาจมีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นของการหลับในช่วงต่างๆ ในคืนที่ 2 ผู้ป่วยจะเริ่มคุ้นเคยกับห้องปฏิบัติการและการนอนหลับจะใกล้เคียงกับการนอนหลับที่บ้านมากขึ้น ถ้าพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อย อาจให้ลองใส่เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) แล้วทำการปรับความดัน เพื่อให้ทราบค่าความดันที่เหมาะสมที่สุด ที่ใช้รักษาการหยุดหายใจ การที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจการนอนหลับ บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถมารับการตรวจในลักษณะนี้ได้




          อย่างไรก็ตาม การตรวจการนอนหลับทั้งสองชนิด เป็นที่ยอมรับว่าเป็น Gold standard หรือการตรวจที่ดีที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคของการนอน โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่ง
เป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ระยะเวลาที่นอนหลับ ถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผลที่ได้จะเชื่อถือได้น้อย ผลการตรวจการนอนหลับ ที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลการวัดระดับความลึกของการนอนหลับเอง จะผิดพลาดได้มาก ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็คผลซ้ำอีกครั้งด้วย จึงจะเชื่อถือได้


ข้อมูลสำคัญๆ ที่แพทย์จะดูในผลตรวจการนอนหลับ ได้แก่ 
- ประสิทธิภาพการนอน
- คุณลักษณะของการนอน ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ของการหลับลึก และเปอร์เซ็นต์ของการหลับฝัน ถ้ามีน้อย ซึ่งมักพบร่วมกับ การเพิ่มของอัตราการสะดุ้งตื่น จะทำให้มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน
- คุณลักษณะของการหยุดหายใจ ได้แก่ ชนิดของการหยุดหายใจ (จากสาเหตุทางสมองหรือทางเดินหายใจอุดตัน) อัตราการหายใจที่ผิดปกติอันเนื่องจากทางเดินหายใจอุดตัน (Respiratory Disturbance Index หรือ RDI) ซึ่งถ้ามากกว่า 5 ครั้ง/ชั่วโมง ถือว่าผิดปกติ6
- RDI 5-15 ครั้ง/ชั่วโมง ความรุนแรงขั้นน้อย
- RDI 15-30 ครั้ง/ชั่วโมง ความรุนแรงขั้นปานกลาง
- RDI มากกว่า 30 ครั้ง/ชั่วโมง ความรุนแรงขั้นมาก -- > ต้องรับการรักษา
- แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว (ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง) แม้ RDI เพียงมากกว่า 5 ครั้ง/ชั่วโมง ก็ถือว่ามีความรุนแรงขั้นมาก -- > ต้องรับการรักษา
- ผลของการหยุดหายใจต่อออกซิเจนในเลือด ถ้าระดับออกซิเจนขณะหยุดหายใจ น้อยกว่า 95 ถือว่าผิดปกติ
- ถ้าระดับออกซิเจนขณะหยุดหายใจ น้อยกว่า 60 ถือว่ารุนแรงขั้นมาก -- > ต้องรับการรักษา เพราะมีอันตรายมาก โดยเฉพาะต่อหัวใจ
- ผลของการหยุดหายใจต่อการเต้นของหัวใจ
- ถ้าพบมีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ในช่วงที่มีการหยุดหายใจและเกิดภาวะขาดออกซิเจน ถือว่ารุนแรงขั้นมาก -- > ต้องรับการรักษา
- การหยุดหายใจในท่านอนต่างๆ และการหยุดหายใจในระยะหลับฝัน
- Multiple sleep latency test (MSLT) ใช้ในการตรวจเกี่ยวกับอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน โดยจะทำต่อเนื่องหลังจากคืนที่ทำการตรวจ PSG โดยเริ่มตรวจตั้งแต่เวลา 08.00 น. ตรวจหาsleep latency (ช่วงเวลาตั้งแต่ปิดไฟถึง onset ของ sleep) และ REM sleep latency (ช่วงเวลาตั้งแต่
เริ่มหลับถึง onset ของ REM sleep) ทำการตรวจวัดหลายๆครั้ง ห่างกันครั้งละ 2 ชั่วโมง คนปกติมีค่า MSLT 10นาที ถ้าพบว่าผู้ป่วยหลับได้เร็วมากผิดปกติ ต้องหาสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ โรคนอนกรนชนิดอันตราย 


ตัวอย่างผลการตรวจการนอนหลับ ของโรงพยาบาลจุฬาฯ โดย นพ.ประกอบเกียรติ หิรัญวิวัฒน์กุล



Sleep Group หน้าแรก | กระดานถาม-ตอบปัญหานอนกรน | สอบถาม... ปัญหานอนกรน | แนะนำทีมงานแพทย์ | พบแพทย์
 
    Web hosting | website builder |เว็บไซต์สำเร็จรูป by ninenic ©Copyright 2002-2019 All rights reserved.