www.sleepgroup.com
Sleep Group หน้าแรก กระดานถาม-ตอบปัญหานอนกรน สอบถาม... ปัญหานอนกรน แนะนำทีมงานแพทย์ พบแพทย์  
-A +A
 
 Search
 
Change Language

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

        ลดปัจจัยเสี่ยงโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral change) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สำคัญมากในการรักษา โดยเฉพาะในรายที่เป็นยังไม่มากนัก ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประกอบด้วย

1. ลดความอ้วน

          - เมื่อน้ำหนักลดลง 10%มีหลักฐานยืนยันว่า อัตราการหยุดหายใจลดลง อาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวันลดลงอย่างชัดเจน เหตุผลที่เมื่อลดน้ำหนักแล้วทำให้อาการดีขึ้นนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความจุของปอดเพิ่มขึ้น ทำให้ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนกาซ นอกจากนั้นเมื่อน้ำหนักลดลง จะทำให้ ขนาดของช่องคอเพิ่มขึ้น อากาศไหลผ่านลงสู่ปอดได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้ความดันในช่องคอเป็นลบลดลง เกิดการยุบตัวลดลง การแลกเปลี่ยนออกซิเจนมีมากขึ้น

          - ผู้ป่วยที่อ้วนจะมีความต้องการที่จะลดน้ำหนัก
ซึ่งหลายคนใช้วิธีการรับประทานยาลดความอ้วน แต่
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเหล่านั้นก็มาก
มาย เช่น ทำให้เกิดอาการใจสั่น และเมื่อพอหยุดยา
มักจะกลับมาอ้วนใหม่ การควบคุมอาหารและการ
ออกกำลังกายจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีในการลดความอ้วน
        
 
          - โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่จะลดน้ำหนักได้ 
ยาก เมื่อลดน้ำหนักได้สักระยะหนึ่งน้ำหนักจะกลับ
เพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้นการอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย
และบุคลากรในทีมสุขภาพ ในการปรับเปลี่ยน
พฤติกรรมของผู้ป่วย การสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้
ป่วย อธิบายถึงประโยชน์ของการลดน้ำหนักจะทำให้
การลดน้ำหนักได้ผล และควบคุมไม่ให้น้ำหนักกลับ
เพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง
 

2. หลีกเลี่ยงการนอนหงาย
         
          - ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจะสังเกตได้เสมอว่า ในท่านอนตะแคง ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับมีอาการลดลง เพราะว่าท่านอนหงายจะทำให้ลิ้นตกไปด้านหลังชิดกับผนังช่องคอด้านหลังทำให้เกิดการอุดตันได้มาก แต่ถ้าผู้ป่วยอ้วนมากๆ แล้ว ไม่ว่าท่านอนใดก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก วิธีการหนึ่งในการทำให้ผู้ป่วยนอนตะแคงคือ การเย็บลูกบอลหรือลูกเทนนิสใส่ไว้บริเวณกระเป๋าที่เย็บกับเสื้อนอนไว้กลางหลังเรียกว่า sleep ball หรือ sleep sock เมื่อผู้ป่วยนอนหงายจะรู้สึกไม่สบายหรือปวดหลังจากการนอนหงายทับลูกบอล ก็จะพลิกตัวกลับมานอนตะแคง แต่วิธีนี้จะใช้ได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการนอนกรนในระดับน้อย คือมีการกรนมากในท่านอนหงาย เวลานอนตะแคงอาการดีขึ้น เนื่องจากลิ้นไม่ตกไปที่คอด้านหลังมากเกินไป การใช้หมอนหนุนใต้คอเพื่อบังคับไม่ให้ศีรษะเงยมากเกินไป ป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปด้านหลังจะสามารถช่วยลดอาการกรนได้บ้าง

3. งดการดื่มสุรา

          - ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจะสังเกตว่า ถ้าผู้ป่วยดื่มสุราก่อนเข้านอน จะมีอาการนอนกรนและการหยุดหายใจมากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการยุบตัวของทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และกดสมองทำให้การตื่น (arousal) ซึ่งร่างกายเคยใช้ตอบสนองต่อการขาดออกซิเจนในเลือดช้ากว่าเดิม เมื่อ
หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ทางเดินหายใจยุบตัวได้ยาก การหยุดหายใจจากการอุดตันลดลง ผู้ป่วยนอนกรนลดลง

4. งดยา

          - ยาบางชนิดทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจในขณะหลับมีอาการมากขึ้น หรือในบางคนที่ไม่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับมีอาการขึ้นมาได้ ได้แก่ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ มีรายงานว่า ยากลุ่มนี้เกือบทุกชนิด มีผลต่อการหายใจขณะหลับ โดยมีการกดการตื่นของสมอง (arousal) ได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วย หยุดหายใจขณะหลับนานขึ้นกว่าเดิม
          - นอกจากนี้ ยาแก้แพ้ในกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีนที่ทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนและหลับลึกเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้อาการมากขึ้นได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มที่มีผลข้างเคียงดังกล่าวไปใช้กลุ่มที่มีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย

5. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอื่นๆ

          - การสูบบุหรี่ทำให้ผนังคออักเสบหนาและมีเสมหะมาก ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง จึงควรหลีกเลี่ยงหรือเลิกสูบบุหรี่
         
          - ในผู้ป่วยที่ออกกำลังหรือทำงานหนักจนร่างกายอ่อนเพลียมาก เวลาหลับกล้ามเนื้อของทางเดิน หายใจจะมีความตึงตัวน้อย เกิดการยุบตัวได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียมากเกินไป


Sleep Group หน้าแรก | กระดานถาม-ตอบปัญหานอนกรน | สอบถาม... ปัญหานอนกรน | แนะนำทีมงานแพทย์ | พบแพทย์
 
    Web hosting | website builder |เว็บไซต์สำเร็จรูป by ninenic ©Copyright 2002-2019 All rights reserved.