ขั้นตอนการรักษา
ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตรายแน่นอนแล้ว จะมีขั้นตอนในการรักษาอย่างไร การรักษาโรคนอนกรน ในชั้นต้นอาจให้ผู้ป่วยลองใช้การรักษาโดยใช้เครื่อง CPAP ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับติดที่จมูกสำหรับใส่ตอนนอน เพื่อเป่าลมเข้าไปถ่างไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง CPAP จะรู้สึกไม่สะดวกสบายในช่วงแรก เพราะไม่เคยชิน แต่เมื่อผ่านไปสักไม่กี่วัน จะรู้สึกว่า นอนหลับสนิทขึ้น ตื่นเช้ามารู้สึกสดชื่นแจ่มใส แล้วอาการง่วงเหงาหาวนอน ก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้งเหมือนใส่แว่นสายตาแล้วเห็นชัด ส่วนคนไหนรู้สึกว่าไม่สะดวกที่จะใช้เครื่อง CPAP ไปตลอดชีวิต หรือมีปัญหาในการใช้เครื่อง อาจเลือกการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบัน มีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดี
ถ้าผู้ป่วยยังไม่อยากรับการรักษาตอนนี้ จะรอไปได้นานแค่ไหน ถ้าผลการตรวจการนอนหลับ พบว่ามีการหยุดหายใจน้อย และไม่มีโรคประจำตัว อย่างเช่นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ก็ยังพอรอได้ แต่ต้องติดตามการรักษา ระหว่างนั้นควรควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย พยายามหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย และห้ามกินเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมทั้งยาที่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยา
นอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก
ถ้าต่อมาพบว่าผลการตรวจการนอนหลับ มีการหยุดหายใจบ่อย หรือเกิดปัญหาโรคหัวใจ ความดันสมอง หรือง่วงนอนมาก หลับในขณะขับรถ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ก็ควรจะเข้ารับการรักษาได้แล้วเพราะสุขภาพที่เสียไปทุกวันทุกคืน ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ และซ้ำร้ายอาจเกิดหัวใจทำงานผิดปกติหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในขณะนอนหลับอยู่ (ไหลตาย) ได้ |