www.sleepgroup.com
Sleep Group หน้าแรก กระดานถาม-ตอบปัญหานอนกรน สอบถาม... ปัญหานอนกรน แนะนำทีมงานแพทย์ พบแพทย์  
-A +A
 
 Search
 
Change Language

 แนวทางการตรวจรักษา

         มีสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ 2 อย่าง ประการแรกคือ การหาตำแหน่งของทางเดินหายใจที่แคบที่เป็นปัญหา และประการที่สองคือ การประเมินความรุนแรงของอาการนอนกรน ว่าเป็นนอนกรนเสียงดังชนิดไม่อันตรายหรือนอนกรนชนิดอันตรายที่มีการหยุดหายใจจากทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยไม่สามารถทราบได้เอง จำเป็นต้องไปรับการตรวจกับแพทย์เฉพาะด้านนี้โดยตรง
 
         แพทย์ที่ให้การดูแลปัญหาเรื่องนอนกรน จะมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก อาจจะเป็น อายุรแพทย์หรือกุมารแพทย์สาขาโรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ โดยแพทย์ในกลุ่มนี้ จะมีความชำนาญในการประเมินความรุนแรงของโรค และรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด อีกกลุ่มหนึ่งคือศัลยแพทย์ด้านหู คอ จมูก ที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรคนอนกรน จะมีความสามารถในการตรวจวินิจฉัยหาตำแหน่งของทางเดินหายใจที่แคบหรืออุดตัน และให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัด เมื่อท่านไปปรึกษาแพทย์ ท่านจะได้รับแบบสอบถามสำหรับบันทึกประวัติที่สำคัญที่แพทย์ต้องการทราบ อาทิเช่นอาการสำคัญที่นำมาพบแพทย์ โรคประจำตัว การใช้ยา ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ และอาการอื่นๆ ที่มีเพื่อนำมาประเมินความรุนแรงของการนอนกรนอย่างคร่าวๆ ชั่งน้ำหนักและวัดความสูง ตรวจความดันเลือดวัดรอบคอ ตรวจลักษณะโครงสร้างใบหน้า ตรวจจมูก ช่องคอ และทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด หลังจากนั้นแพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจขนาดเล็กสอดเข้าไปทางรูจมูกเพื่อตรวจสภาพทางเดินหายใจส่วนบน อย่างละเอียด และส่งตรวจเอ็กซเรย์ Lateral cephalogram เพื่อหาตำแหน่งอุดตัน และดูรายละเอียด ของทางเดินหายใจส่วนบน
 
         ถ้าผลการตรวจข้างต้น มีลักษณะผิดปกติที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่าท่านน่าจะเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตราย แพทย์จะแนะนำให้ตรวจการนอนหลับ เพื่อให้ทราบว่า ท่านเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตรายจริงหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเท่าใด การหยุดหายใจมีผลกระทบต่อสมองและหัวใจแค่ไหน และสุดท้ายต้องการทดสอบว่าการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่


การซักประวัติ

         การซักประวัติผู้ป่วย นอกจากจะได้ประวัติการนอนหลับ การตื่นในตอนกลางคืน การมีอาการง่วงนอนมากในตอนกลางวัน การซักถามจากคนใกล้ชิด สามี ภรรยา ญาติ พี่น้อง เพื่อน จะช่วยในการวินิจฉัยได้เป็น อย่างมาก ลักษณะความผิดปกติเหล่านี้เกิดในขณะที่ผู้ป่วยหลับ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าตนมีอาการนอนกรนเสียงดังมาก ไม่รู้สึกถึงการหายใจไม่สม่ำเสมอ หรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การกระสับกระส่ายอยู่บนเตียงการนอนกรนแล้วเสียงกรนหยุดหายไปชั่วขณะแล้วกลับมาหายใจอีก และกรนเสียงดังอีกเป็นระยะๆ แล้วหยุดหายใจอีก ประวัติเหล่านี้จะบอกเล่าได้โดยผู้ใกล้ชิด
 
         ช่วงที่ร่างกายมีการหยุดหายใจนั้น ร่างกายจะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตโดยทำให้การหยุดหายใจนั้นสิ้นสุดลง โดยการเปลี่ยนแปลงจากหลับลึกเป็นสะดุ้งตื่นขึ้นในทันทีทันใด เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า arousal เมื่อเกิด arousal ขึ้น การหยุดหายใจจะสิ้นสุด และผู้ป่วยจะกลับมาหายใจได้อีกครั้ง เมื่อเกิด arousal ไม่ทุกครั้งที่ผู้ป่วยจะตื่นขึ้นมา แต่อาจทำให้ผู้ป่วยหลับตื้นขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นการอธิบายว่าผู้ป่วยจำเหตุการณ์หยุดหายใจขณะหลับไม่ได้ อย่างมากอาจจะอธิบายว่าตื่นขึ้นมาเพราะหายใจไม่ออก (Chocking) ในคืนหนึ่งๆ อาจจะมีการหยุดหายใจเป็นร้อยครั้ง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะสังเกตได้ชัด แต่ผู้ป่วยเองจะรู้สึกตื่นขึ้นมาเพียง 3-4 ครั้งเท่านั้น หรือไม่ตื่นเลย บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวไปในรูปแบบอื่น เช่น ฝันร้าย หรือ รู้สึกคล้ายกับว่าจะปวดปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลมาจาก arousal นั่นเอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะบ่นว่ามีอาการคอแห้ง ริมฝีปากแห้งในตอนเช้าหลังจากตื่นนอน เนื่องจากผู้ป่วยมีการหายใจทางปากตลอดทั้งคืน ทำให้หลังจากตื่นนอนจะรู้สึกไม่สดใส มีอาการมึนศีรษะ บางรายมีอาการปวดศีรษะ บางรายมีการหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน



ขั้นตอนการรักษา

          ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตรายแน่นอนแล้ว จะมีขั้นตอนในการรักษาอย่างไร การรักษาโรคนอนกรน ในชั้นต้นอาจให้ผู้ป่วยลองใช้การรักษาโดยใช้เครื่อง CPAP ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับติดที่จมูกสำหรับใส่ตอนนอน เพื่อเป่าลมเข้าไปถ่างไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง CPAP จะรู้สึกไม่สะดวกสบายในช่วงแรก เพราะไม่เคยชิน แต่เมื่อผ่านไปสักไม่กี่วัน จะรู้สึกว่า นอนหลับสนิทขึ้น ตื่นเช้ามารู้สึกสดชื่นแจ่มใส แล้วอาการง่วงเหงาหาวนอน ก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้งเหมือนใส่แว่นสายตาแล้วเห็นชัด ส่วนคนไหนรู้สึกว่าไม่สะดวกที่จะใช้เครื่อง CPAP ไปตลอดชีวิต หรือมีปัญหาในการใช้เครื่อง อาจเลือกการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบัน มีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดี
 
          ถ้าผู้ป่วยยังไม่อยากรับการรักษาตอนนี้ จะรอไปได้นานแค่ไหน ถ้าผลการตรวจการนอนหลับ พบว่ามีการหยุดหายใจน้อย และไม่มีโรคประจำตัว อย่างเช่นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ก็ยังพอรอได้ แต่ต้องติดตามการรักษา ระหว่างนั้นควรควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย พยายามหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย และห้ามกินเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมทั้งยาที่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยา
นอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก
 
          ถ้าต่อมาพบว่าผลการตรวจการนอนหลับ มีการหยุดหายใจบ่อย หรือเกิดปัญหาโรคหัวใจ ความดันสมอง หรือง่วงนอนมาก หลับในขณะขับรถ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ก็ควรจะเข้ารับการรักษาได้แล้วเพราะสุขภาพที่เสียไปทุกวันทุกคืน ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ และซ้ำร้ายอาจเกิดหัวใจทำงานผิดปกติหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในขณะนอนหลับอยู่ (ไหลตาย) ได้


Sleep Group หน้าแรก | กระดานถาม-ตอบปัญหานอนกรน | สอบถาม... ปัญหานอนกรน | แนะนำทีมงานแพทย์ | พบแพทย์
 
    Web hosting | website builder |เว็บไซต์สำเร็จรูป by ninenic ©Copyright 2002-2019 All rights reserved.